สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการคนกล้าดี

โครงการคนกล้าดี

            โครงการคนกล้าดีเป็นโครงการที่ทำโดยเด็กและเยาวชนจากหมู่บ้านทับคริสต์ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่บ้านซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างชุมชนชนบทกับชุมชนเมืองและชุมชนแหล่งท่องเที่ยว อยู่ระหว่างสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และพังงา คนในชุมชนทำอาชีพเกษตรกร ปลูกยางพารา และเป็นหมู่บ้านที่บรรพบุรุษอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ แม้เดิมทีจะได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐครอบครัวละ 25 ไร่ แต่ปัจจุบันพบว่ามีการเวนคืนที่ดินจากรัฐ ทำให้ชาวบ้านเน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการผลิตอาหารบริโภคเอง

            ด้วยบริบทและที่มาของหมู่บ้านเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ มีประสบการณ์เรื่องการพึ่งพาตนเองอยู่แล้ว

            ประกอบกับ เดิมทีมูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานีเข้ามาทำงานชุมชนในพื้นที่นี้และเห็นว่ามี เด็ก เยาวชน จำนวนมากในชุมชน จึงชวนเริ่มทำโครงการ Active Citizen โดยการระดมความสนใจ ซึ่งเด็กและเยาวชนเสนอสิ่งที่สนใจมาหลากหลาย เช่น การปลูกผักพื้นบ้านหายาก ปลูกเมล่อน การเพาะเลี้ยงปลากัด การเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงหอยขม การทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น จนกลายมาเป็น “โครงการคนกล้าดี” ซึ่งเป็นโครงการที่ทำเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารในชุมชน ณ ซอยนาสาร หมู่บ้านทับคริสต์ หมู่ 3 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนิยามของคนกล้าดีเด็กๆ บอกว่า หมายถึง กล้าที่จะเปลี่ยน กล้าสวนกระแสบริโภคนิยม กล้าที่จะพัฒนา ทั้งนี้หมายถึงทั้งระดับบุคคล พฤติกรรม การบริโภค และวัตรปฏิบัติ โดยการทำงานร่วมกันของผู้ปกครอง และเด็กและเยาวชนในชุมชน กระบวนการทำงานของโครงการคนกล้าดี มีกรอบความคิดและทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการสืบค้น เรียนรู้ความเป็นมา รากเหง้าของชุมชนด้วยการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็ก เยาวชนเห็นเส้นทางการอพยพของบรรพบุรุษเมื่อ 50 ปีก่อนที่เดินทางมาอย่างอดทน จนได้ที่ดินทำกิน ชักชวน เด็ก เยาวชนให้วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันในช่วงก่อนโรคโควิด19 ระบาด 3 - 4 ปี ที่ราคายาง ปาล์ม ตกต่ำซึ่งทำให้ส่งผลกระทบตรงต่อเกษตรกรในภาคใต้ ซึ่งทุกครอบครัวในชุมชนโดนผลกระทบโดยตรง อีกทั้งที่ดินทำกินของบางครอบครัวในโครงการยังโดนประกาศทับซ้อนว่าอยู่ในเขตป่าสงวน การชวนให้คิดและมองเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้เด็ก เยาวชน คนกล้าดี เข้าใจบริบทสังคมและมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวเอง ครอบครัว และชุมชน

             จนมาสู่การทำเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เด็กๆ เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ในสวนหรือจากป่าแถวบ้าน เพาะเมล็ด ทดลองปลูก หาวิธีขยายพันธุ์ โดยเฉพาะพืชผักหายากในชุมชน เช่น ลูกแมะ (มะระขี้นก) โดยมีการบันทึก ทดลอง ลองผิดลองถูก ตั้งสมมติฐานเพื่อหาปัญญาและแนวทางการแก้ไข ซึ่งแหล่งข้อมูลอาจจะมาจากครูภูมิปัญญา ผู้รู้ และการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดเด็ก เยาวชนจะทำร่วมกับครอบครัว โดยมีพี่เลี้ยงเอื้ออำนวยการเรียนรู้ ให้ต่อยอดและหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

            การทำกิจกรรมร่วมกัน บนพื้นที่ร่วมส่วนกลางของชุมชน ที่ทุกคนจะต้องมาลงแรงทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้สิ่งที่ทำอยู่ ทำให้เกิดความผูกพันกันในชุมชน หลังกิจกรรมผู้ปกครองจะช่วยกันทำอาหารมานั่งล้อมวงกินข้าวสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เป็นเกราะป้องกันที่จะดูแลลูกหลานในชุมชน เด็ก ๆ ลดการใช้โทรศัพท์ แต่ออกมาเล่น ทำงาน ดูแลผลผลิตที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งการลงมือทำอย่างเป็นประจำ เช่น การรดน้ำผักเช้า เย็น การให้อาหารปลา เป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำ ได้ช่วยสร้างคุณลักษณะเชิงบวก ส่งเสริมวินัย ความรับผิดชอบ การสร้างจิตสำนึกร่วม จากการลงมือทำ ทำให้เห็นพัฒนาการเด็ก เยาวชน ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องสั่งสอนหรือดุด่าว่ากล่าว พวกเขาเติบโตด้วยความเข้าใจจากสิ่งที่เป็นอยู่ ได้เห็น ได้ทำ ได้เรียนรู้ ได้แก้ไข และลองทำใหม่โดยมีกำลังใจจากคนในชุมชน

           “ต้องรู้จักใจเย็น คอยรับฟังทุกเสียง บางครั้งน้อง ๆ ก็ดื้อ ต้องฟังเหตุผลของน้องมากขึ้น ทำให้เราถ้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทำให้เรามีวินัย” ฟ้า-วราภรณ์ ประวัติ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

            ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการคนกล้าดีโดดเด่น คือบูรณาการการทำงาน โดยทำงานกับคนทุกวัยในชุมชน ขับเคลื่อนชุมชนผ่านมุมมองของทุกคน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ตลอดการดำเนินโครงการมีการประชุม ถอดบทเรียน และมองหาแนวทางการสร้างรายได้เพื่อเพิ่มมูลค่าต่อยอดผลิดภัณฑ์ที่มี เช่น ปลาดุก นำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้า เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก เด็ก เยาวชน และครอบครัว มองเห็นและเข้าใจวิถีใหม่ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง แบ่งปัน และดูแลกันและกัน จนวันนี้เกิดโครงการออมเงินวันละบาท เพื่อเก็บเป็นกองทุนในการทำกิจกรรมของกลุ่ม โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์เพื่อแบ่งปันพันธุ์ผัก อนาคตจะขยายพื้นที่จากชุมชนนี้สู่ชุมชนข้างเคียงต่อไป

­

ความโดดเด่น

  • บูรณาการการทำงานร่วมกันโดยคนทุกวัยในชุมชนให้มีส่วนร่วม เข้าใจและเห็นผลลัพธ์ตรงกัน
  • เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชนได้เลือกความสนใจ คนไหนอยากปลูกได้ปลูก คนไหนอยากเลี้ยงได้เลี้ยง จึงทำให้พวกเขาทำด้วยความเต็มใจ และพร้อมยอมรับและหาแนวทางการแก้ไขด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่อยู่ข้าง ๆ อย่างเข้าใจ
  • ทำงานอย่างมีระบบขั้นตอนโดยมีพี่เลี้ยงที่เข้าใจและเห็นภาพรวม เอื้ออำนวยการเรียนรู้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก เยาวชนได้เกิดความกล้าจากภายใน และมีผู้ปกครองร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

­

ผู้ให้สัมภาษณ์

1. นายจำลอง บุญลา (จำลอง) อายุ 54ปี พี่เลี้ยงเยาวชน

2. นางสาววิระมล ประวัติ (พี่ส้ม) อายุ 35 ปี พี่เลี้ยงเยาวชน

3. นางสาววราภรณ์ ประวัติ (น้องฟ้า) อายุ 17 ปี ม. 5 โรงเรียนบ้านตาขุนวิทยา

4. ด.ช.ธนากร รัตนโชติ (น้องเต) อายุ 12 ปี ป.6 โรงเรียนบ้านแสนสุข

5. ด.ช.สุภชัย สุขขี (น้องออโต) อายุ 8 ปี ป.2 โรงเรียนบ้านเเสนสุข

6. ด.ญ.ภัทราวดี จวบยศ (น้องกูเกิ้ล) อายุ 6 ปี อ.3 โรงเรียนต้นยวน

7. ด.ญ.วิชชุดา พลสวัสดิ์ (น้องแป้ง) อายุ 13 ปี ม.1 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

8. ด.ช.ตะวัน ยวนกะเปา (น้องเปา) อายุ 12 ปี ม.1 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

9. ด.ช.สัญญา ประวัติ (น้องสกาย) อายุ 14 ปี ม.2 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

10. ด.ช.วีระพงศ์ พลสวัสดิ์ (น้องเป้) อายุ 15 ปี ม.3 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

­

­

บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

แป้ง หนูชื่อวิชชุดา พลสวัสดิ์ ชื่อเล่นน้องแป้ง อายุ 13 ปี เรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

เป้ วีระพงศ์ พลสวัสดิ์ ชื่อน้องเป้ อายุ 15 ปี เรียนชั้น ม.3 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

สกาย สัญญา ประวัติ ชื่อน้องสกาย อายุ 14 ปี เรียนชั้น ม.2 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

เปา ตะวัน ยวนกะเปา ชื่อน้องเปา อายุ 12 ปี เรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอุปถัมภ์วิทยาพนม

ฟ้า นางสาววราภรณ์ ประวัติ ชื่อน้องฟ้า อายุ 17 ปี เรียนชั้นม. 5 โรงเรียนบ้านตาขุนวิทยา

เต ธนากร รัตนโชติ ชื่อน้องเต อายุ 12 ปี เรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านแสนสุข

ออโต้ ด.ช.สุภชัย สุขขี ชื่อน้องออโต้ อายุ 8 ปี เรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านเเสนสุข

กูเกิ้ล ด.ญ.ภัทราวดี จวบยศ ชื่อน้องกูเกิ้ล อายุ 6 ปี เรียน อ.3 โรงเรียนต้นยวน

พี่จำลอง ผมนายจำลอง บุญลา อายุ 54 ปี เป็นพี่เลี้ยงและเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ดูแลเขตตำบลคลองชะอุ่นอำเภอพนม เป็นเขตของหมู่บ้านคาทอลิกที่บ้านทับคริสต์ เราทำงานกับพี่น้องทั้งหมดไม่ได้แยกศาสนา แต่ก็สังกัดในการดูแลมูลนิธิแคทอลิกสุราษฎร์ธานี

­

ถาม พวกเราทำโครงการอะไร

ฟ้า โครงการคนกล้าดี ชื่อโครงการมีที่มาหมายถึง เรากล้าที่จะคิดกล้าจะทำ คำว่า “กล้า” ของเรามีกล้า สองความหมาย หนึ่งคือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สองหมายถึงกล้าที่จะทำต้นกล้าขึ้นมาให้ดี

พี่จำลอง ผมขอเพิ่มเติม อย่างที่น้องฟ้าว่าความหมายของกล้าดีมีสองความหมายความหมายแรกคือ หมายถึงกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าแสดงออก กล้ารวมกลุ่มกล้าที่จะวางโทรศัพท์ลง แล้วมาทำงานกลุ่มมาร่วมทำงานกับพ่อแม่ด้วยกัน กล้าสวนกระแสบริโภคนิยม กล้าที่จะพัฒนากลุ่มที่จะแตกต่างจากเด็กอื่น ๆ วัฒนธรรมทางใต้ถ้าบอกว่า “กล้าดี” เป็นคำที่แรง ถ้ามีคนพูดว่าเด็กคนนี้กล้าดี เด็กคนนี้จะดูเป็นเด็กหัวรั้น ดื้อ ดูเป็นคนกล้าเถียงพ่อแม่ แต่เรามาคิดใหม่พลิกความหมายใหม่ “กล้า” ที่สอง คือ การรวมเมล็ดพันธุ์กล้าพื้นบ้าน พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านเราสวนกระแส เพราะทุกวันนี้พวกเราซื้อเมล็ดพันธุ์จากเจียไต๋เมล็ดพันธุ์คุณภาพจากนายทุนใหญ่ เราคิดว่าถ้าเราทำแบบนั้นเราจะอยู่ไม่รอดเพราะว่าบ้านเรามีสภาพภูมิอากาศชื้น ถ้าเรายังซื้อเมล็ดพันธุ์จากเขามา เราก็จะต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาฆ่าแมลงจากบริษัทเขา เพื่อที่จะให้เมล็ดพันธุ์ที่เราซื้อมาเติบโตและได้ผล ถ้าเรารวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่บ้านเรา ที่มีความแข็งแรงคงทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี ถึงลูกผลของมันไม่สวยสักเท่าไร แต่เราจะได้ลดการใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลง จากจุดนี้เป็นที่มาของการกล้าที่จะรวมต้นกล้าของเมล็ดพันธุ์ที่ดีมารวบรวมปลูกที่ข้างบ้าน เราขึ้นไปบนป่าเรารวบรวมเมล็ดพันธุ์จากต้นแมะและผักป่าต่าง ๆ มาปลูกข้างบ้าน เราเอามาดูแลและทดลองปลูกกันใหม่ พัฒนาจนมาเก็บสายพันธุ์พืชและเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักพืชบ้านของชุมชนเรา นี่คือ ความหมายของกล้าดีที่ทำมาตลอดหนึ่งปีนี้

­

ถาม ช่วยเล่าถึงความคิดในการใช้วิธีการวิจัยและการพัฒนามาใช้กับการทำโครงการ

พี่จำลอง ผมอยากให้เด็กมีกรอบแนวคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่ว่าทำงานแบบลุยกันเอง อยากให้เขาเริ่มต้นจากกรอบแนวคิดด้วยการสืบค้นหาเหมือนการทำวิจัย ให้เขามองปัจจัยต่าง ๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอะไรบ้าง เรามองว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการทำงานของเด็ก เพราะว่าเขาจะได้มี Mindset ใหม่ของกระบวนการเรียนรู้ เราเลยจัดกระบวนการแบบนี้ คำว่ากล้าดีอย่างที่ผมได้บอกไป เป็นคำแสลงหูของคนใต้เราต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่กับเด็ก ๆ

กระบวนการขั้นที่หนึ่งเราพาเด็กทดลอง โดยการสืบค้นหาและการเก็บข้อมูลผักข้างบ้านของเรามีอะไรบ้าง ปีนี้เป็นปีที่ 50 ของการอพยพมาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่นี่ ความเป็นมาของชุมชนซอยนาสารก็น่าสนใจ จากแนวคิดนี้เด็ก ๆ จะต้องซึมซับรากเหง้าของเขาและชุมชน รุ่นพ่อแม่ตายายของพวกเขาที่เดินทางอพยพเข้ามา พวกเขาได้รับการจัดสรรที่ดินจากมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี เขาจะต้องเรียนรู้รากเหง้าและความเป็นมาของเขาด้วยเพื่อที่จะได้ปรับแนวคิดใหม่ มองคุณค่าของพื้นแผ่นดินผืนนี้ที่เขาได้รับครอบครัวละ 25 ไร่เท่านั้นเอง จาก 25 ไร่ ของรุ่นปู่รุ่นย่าตกมาถึงรุ่นพ่อแม่ต้องมาหาร 2 หาร 3 หาร 4 แล้วแต่ว่าเขามากันกี่คน ในรุ่นเขาจะมีที่ดินมรดกซักกี่ไร่ที่ตกทอดมาถึงมือ กรอบแนวคิดพื้นฐานการทำงาน เขาจะต้องเริ่มจากการเห็นคุณค่าของผืนแผ่นดินของทรัพยากรธรรมชาติจากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

หมู่บ้านทับคริสต์เป็นรอยต่อระหว่างชุมชนชนบทกับชุมชนเมืองและชุมชนแหล่งท่องเที่ยว เราอยู่ระหว่างสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา เราพาเด็ก ๆ ไปนั่งคุยกับตายายตอนที่อพยพมาว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนั้นช่วยเหลือกันอย่างไร นั่นจะเป็นขั้นตอนการสืบค้นเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวตนว่าเขาเป็นใคร มีศักยภาพอะไรบ้าง จากสิ่งที่มีตรงนี้เราชวนเขาคุย ตอนที่เราเจอภาวะวิกฤตภาคใต้ 3-4 ปีก่อนวิกฤตโควิด คือเรื่องของราคายาง ราคาปาล์มที่ตกต่ำ ทำให้พี่น้องคนใต้หืดขึ้นคอที่ดินของเขามีอยู่จำนวนแค่นี้ ยางราคาตกมาก 3-4 กิโลกรัมราคา 100 บาท ที่ดินของเกษตรกรรายย่อยที่มีไม่ถึง 15 ไร่ มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ช่วงนั้นเจอสภาวะเศรษฐกิจหนักมาก ชุมชนปรับตัวไม่ทัน ชุมชนของเราเขตป่าสงวนเขายิงดาวเทียมมา บางพื้นที่บางบ้าน อย่างเช่น บ้านน้องฟ้าก็กลายเป็นเขตป่าสงวนไปทั้ง ๆ ที่เราได้ที่ดินจัดสรรขอจากรัฐบาลมาครอบครัวละ 25-30 ไร่ เมื่อดาวเทียมยิงผ่านมากลายเป็นเขตป่าสงวนทำอะไรไม่ได้ไม่มีโฉนดที่ดิน

ตอนที่รัฐบาลช่วยเหลือช่วงสภาวะราคายางพาราตกต่ำก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะว่าไม่มีโฉนดที่ดิน ตรงนี้ทำให้เด็กต้องเรียนรู้ ให้เขาได้สืบค้นหาความเป็นมาของชุมชน จากตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เราคิดว่าเราจะทำอะไร เราควรพึ่งพาตัวเองดีไหม เราทำเกษตรในครัวเรือนได้ไหม เราปลูกผักกินเองดีไหม เราไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาข้างนอกไม่ต้องไปซื้อข้างนอก เราหาในบ้านเราค่อย ๆ รวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืช เรามาช่วยกันทำตรงนี้นี่เป็นจุดเริ่มต้น

เราทำการค้นหาก่อนเรื่องราวและศักยภาพเขาก่อน หลังจากนั้นเขาจะต่อยอดอะไรเราค่อยมาคุยกันว่าในภาวะแบบนี้เราน่าจะต่อยอดแบบไหน เช่น ทำเกษตรในครัวเรือนซึ่งเราทำมาหนึ่งปี เราเห็นผลเรามาคุยกับเด็กว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา กิจกรรมที่เขาทำมีความหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช มีเรื่องของการทดลองเลี้ยง อย่างน้องเปาทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลากัด อยากน้องเป้และน้องแป้งก็ทดลองเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช เรามีกิจกรรมที่หลากหลายในชุมชนเรา เราค่อย ๆ เรียนรู้กระบวนการไป

ผมคิดว่าในขั้นตอนของการรีเสิร์ชยาวนานพอสมควร เรื่องของการจัดกระบวนการกลุ่มจนตอนนี้เกิดกิจกรรมออมวันละบาทขึ้นแล้วเป็นกองทุนของพวกเขาเอง

­

ถาม เด็ก ๆ ทำอะไรในโครงการและทำอะไรในชุมชนบ้าง

แป้ง หนูไปปลูกผัก ทดลองปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่บ้าน คุณครูแนะนำให้หนูปลูก หนูศึกษาใน YouTube และGoogle คุณครูให้เมล็ดพันธุ์มา หนูเพาะพันธุ์เอง ตอนที่ลงชุมชนหนูไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ถึงที่มาของชุมชนแห่งนี้ พวกเขาเดินทางมาจากนาสารและมาปักหลักที่ชุมชนแห่งนี้ มีทั้งหมดสามตระกูล มี ตระกูลบัวประวัติ ภักดี มีคุณพ่อเดลฟีโน เกรสปีให้ที่ดินมา พวกเรามาสร้างบ้าน ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม ทำไร่ทำนา

หนูรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชที่หายากในชุมชนมีต้นแมะ เป็นไม้เถาคล้ายต้นตำลึงรสชาติขม ส่วนใหญ่เขาเอามาแกงและลวกกินกับน้ำพริก

พี่จำลอง ลูกแมะเป็นเหมือนมะระขี้นก ยอดของมันจะมาลวกวกกับกะทิกินคู่น้ำพริก เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าแถวบ้าน บางทีก็อยู่พบในสวนบ้าง เมล็ดพวกนี้ชอบอยู่ในที่ชื้น เด็ก ๆ ไปค้นเจอและรวบรวมมา เด็ก ๆ ไปเก็บหัว เก็บเมล็ด มาทดลองปลูกข้างบ้านตัวเอง ทดลองดูว่าจะขึ้นไหม เพราะปกติพันธุ์พืชพวกนี้จะอยู่บนเขาที่มีใบไม้ทับถม เราเอามาทดลองปลูกเพราะว่าคนใต้ชอบกินผักชนิดนี้มาก แต่ถ้าสวนปาล์มหรือสวนยางพาราใช้ยาฆ่าหญ้า ผักพวกนี้จะสูญพันธุ์ไป เมื่อทุกสวนใช้ยาฆ่าหญ้ากันหมด เพื่อลดต้นทุนแรงงานตัดหญ้าก็อาจจะทำให้ผักสูญพันธุ์ ที่ตรงนี้อยู่ในเขตเทือกเขาพนมภูเถื่อนเป็นเขตป่าชุมชน เป็นป่าอนุรักษ์ของหมู่บ้านทับคริสต์ พ่อแม่พวกเขาเป็นตัวแทนในการดูแลอนุรักษ์ป่า พ่อของเด็ก ๆ ไปเห็นต้นแมะจึงชวนเด็ก ๆ ขึ้นไปเอาเมล็ดพันธุ์ลงมาทดลองปลูกข้างบ้าน

แป้ง พอทดลองปลูกแมะอยู่ได้ระยะหนึ่งสามารถโตได้

ฟ้า ที่บ้านฟ้านำหัวแมะลงมาปลูก ทำคานให้เลื้อยขึ้นไว้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดี มีรอบการผลัดใบและลูก เราสามารถเก็บมาตากแห้งเพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป เมื่อเราเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปเพาะต่อ เมล็ดจะขึ้นยากมาก แต่ถ้าเราโยนเมล็ดแมะทิ้งไว้ในที่ชื้นจะขึ้นเองอัตโนมัติเลย

­

ถาม ตอนที่ลงชุมชนเราไปทำอะไรบ้าง

ฟ้า ไปสอบถามข้อมูลกับผู้รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ไหนบ้างที่เริ่มหายาก เขาบอกมาว่ามีหลายอย่าง แมะเป็นหนึ่งในนั้นที่พวกเราหามาได้ เราได้ทดลองปลูกกันแบบจริง ๆ เราเพาะและหาทางขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ เราหาวิธีการ เช่น ลองเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในตู้เย็นแล้วเอามาเพาะ เราทดลองเลี้ยงหอยขมในบ่อซีเมนต์วงกลมจำนวน 4 บ่อ หอยขมที่ออกลูกแล้วเขาจะตายไป เหลือแต่ลูกตัวเล็ก ๆ ลูกตัวเล็กเติบโตช้ามาก อาหารที่เราให้เขากินคือใบมัน ผักบุ้ง และอาหารของปลาดุก การเลี้ยงหอยขมตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองยังไม่ประสบความสำเร็จ

พี่จำลอง ตามที่น้องฟ้าบอกเราอยู่ในช่วงสืบค้น เขาจะไปหาข้อมูลกันใน YouTube และ Internet บอกว่าการเลี้ยงหอยขมมันได้ผลมากและสร้างรายได้ ปรากฏว่าเราให้เด็ก ๆ ทดลองการลงมือทำไม่ง่ายเลย อาจจะอยู่ที่พันธุ์ของหอยด้วยหรือเปล่า เรากำลังตั้งข้อสงสัยอยู่ เป็นคำถามที่เราจะพัฒนาในรุ่นต่อไป เพราะว่าปีนี้เราทดลองเลี้ยงโดยการเก็บหอยจากธรรมชาติมา เราไปที่หนองน้ำเพื่อไปเก็บหอยเอามาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ พอตัวแม่ออกลูกมา ตัวแม่จะตายเราต้องเลี้ยงลูกเขาแต่มันไม่โตพอที่จะเก็บกินได้ เรากำลังตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้อยู่ เราไปถามคนที่เคยเลี้ยงเขาว่าอาจจะเป็นที่พันธุ์ของหอยก็ได้ ปีต่อไปเราจะทดลองเก็บหอยจากแหล่งน้ำที่ต่าง ๆ เป็นโจทย์ที่ปีนี้เราจะต้องทำให้ได้

­

ถาม จากสิ่งที่พวกเราทำมีเสียงสะท้อนจากคนในชุมชมเป็นอย่างไรบ้าง

เป้ เขาให้ความร่วมมือในกิจกรรมที่เราชวนเขามาทำ เราชวนเค้ามาทำปุ๋ยชีวภาพ

ฟ้า ชุมชนมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและช่วยลดค่าใช้จ่ายในชุมชนได้ด้วย

ตอบ บางบ้านสามารถนำผักที่ปลูก ตัดไปขายในชุมชน

เป้ เราชวนชาวบ้านมาทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปปลูกผักปลอดสารพิษ แต่ละบ้านมีแปลงผักอยู่ข้างบ้านของตัวเอง เขาเอาเมล็ดพันธุ์ที่พวกเราหามาได้ไปปลูก หลายคนให้ความร่วมมือแต่บางบ้านยังไม่เข้ามา

­

ถาม สิ่งที่พวกเราทำสามารถแก้ปัญหาในชุมชนเรื่องอะไรบ้าง

เปา เรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน เมื่อก่อนที่บ้านผมจะต้องไปตลาดนัด เพื่อซื้อผักแต่ตอนนี้ไม่ต้องซื้อแล้วครับ ที่บ้านผมปลูกแมะ ถั่ว และผักหวาน เราจะแบ่งเมล็ดพันธุ์ที่มีในบ้านให้บ้านอื่น

เป้ บ้านผมจะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงปลาดูก ปลาสลิดและปลานิล ผมนำปลาดุกไปแปรรูปเป็นปลาดุกร้าได้ผลดี ผมเอาไปขายประมาณกิโลละ 250 บาท ทำให้มีรายได้

ฟ้า บ้านของฟ้าปลูกแมะ รายได้จากการปลูกแมะสามารถช่วยครอบครัวได้ ผักบางอย่างที่เราสามารถปลูกได้เราก็ปลูกเอง เราไม่ต้องซื้อจากที่อื่นช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องผักได้พอสมควร และพอเราปลูกเองก็ไม่มีสารพิษเพราะเราไม่ใช้สารเคมี

­

ถาม มีความคิดเห็นอย่างไรเรื่องการปลูกผักเลี้ยงสัตว์กินเองในครัวเรือน เรื่องนี้สำคัญอย่างไรกับชุมชน

ฟ้า เพราะว่าเวลาที่เราเจอสถานการณ์อย่างเช่นโรคโควิดระบาด สิ่งที่เราทำอยู่นี้มันสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของเราได้มาก เราก็ออกไปทำงานไม่ได้ ราคายางก็ตกต่ำ เราสามารถทำเองปลูกเองก็มาจุนเจือครอบครัวได้ดีในสถานการณ์แบบนี้

เปา เป็นการฝึกความรับผิดชอบในการดูแลงานทำให้สำเร็จ

เป้ ผมว่ามันสำคัญช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ตอนนี้เราจะเสียเรื่องอาหารที่ให้ปลาดุก เรายังทำอาหารสำหรับให้ปลาดุกเองไม่ได้ เรายังต้องซื้อ ผมเคยคิดว่าจะทำอาหารของปลาดุก แต่ยังทำไม่เป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอน

­

ถาม สิ่งที่เด็ก ๆ ทำในโครงการ สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือผลตอบรับของชุมชนเป็นอย่างไร

พี่จำลอง ชุมชนนี้ตอนแรกเราจะเห็นแต่เด็กเพราะว่าในซอยนี้เด็กเยอะมาก มูลนิธิของเราเข้ามาเยี่ยมชุมชนตอนนั้นรู้สึกว่าทำไมเด็กเยอะจัง เราเลยมาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ เรามองว่าเขาพอจะทำอะไรได้บ้าง ผมมองเห็นว่าตัวชุมชนหมู่บ้านทับคริสต์ ตรงซอยนี้คือซอย 1 ใน 10 ซอยของหมู่บ้านทับคริสต์ ซึ่ง 9 ซอย ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องนับถือศาสนาคริสต์ ซอยนี้ทั้งซอยส่วนใหญ่อพยพมาได้รับการจัดสรรที่ดินจากบาทหลวง

เนื่องจากในซอยมี 3 ตระกูล จึงมีความเป็นพี่เป็นน้องในชุมชน เพราะว่าเขาเป็นเครือญาติห่าง ๆ กัน หลังจากที่เราได้ชวนคิดชวนคุยถึงเรื่องราวความเป็นมาของปู่ย่าตายาย จากตรงนั้นมาประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของคนใต้ เป็นโจทย์ที่ให้เราได้ทำงาน ผมได้คุยกับเด็ก ๆ และชุมชนว่า เราจะไม่ทำงานเฉพาะเด็กเท่านั้น เงื่อนไขเมื่อเด็กมาจัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องมีพ่อแม่หรือชุมชนเข้ามาทุกครั้ง คนในชุมชนจะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ ร่วมเรียนรู้ไปกับเด็ก พาเด็กทำไม่ใช่ให้ผมทำผม ผมเป็นเพียงแค่ผู้เกื้อกระบวนการเท่านั้น เพราะว่าผมเป็นคนนอก ต่อไปมูลนิธิเรามีพื้นที่อื่นที่เราจะต้องไปทำอีกใน 15 จังหวัดในภาคใต้ พวกเขาจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง จะต้องช่วยเหลือตนเองได้

จากรุ่นพวกเขาที่ก่อการมาเขาจะต้องส่งต่อให้รุ่นน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมา น้องฟ้าน้องเป้ น้องแป้งจะต้องเป็นหลักให้กับน้อง ๆ ต่อไป โดยที่จะมีพ่อแม่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยคอยทำร่วมกันด้วย ผมเห็นความร่วมมือของชุมชนตั้งแต่ผมเริ่มเข้าทำงานที่ซอยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ่อ การทำโรงเรือนพวกเขาทำเอง เราสนับสนุนแค่บางส่วน เช่น เราซื้อลูกปลาให้แต่พวกเขาต้องหาอาหารเอง อย่างที่น้องเล่าไปว่าการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ต้นทุนของอาหารจะสูงมากกว่าจะได้ขาย ปลาดุกกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท เพราะเขาต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ในการเลี้ยงดู ผมเห็นความร่วมมือของชุมชนในการที่จะมาทำงาน เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ เราจะเอาวัตถุดิบมาให้ แต่คนในชุมชนและเด็ก ๆ พ่อแม่ต้องมาลงมือลงแรง ถือจอบมาผสมมาหมักด้วยตัวเอง พอเสร็จแล้วจะถูกแบ่งไปใช้ในแต่ละบ้าน

เราชวนคิดชวนคุยและช่วยถอดบทเรียน เราชวนให้เขาเห็นสภาพชุมชน และให้เขาคิดเองว่าเขาจะทำอะไร คนที่ขับเคลื่อนงานจริง ๆ ในชุมชนคือพ่อแม่ของเด็ก พวกเขาดูแลกันเอง อย่างเช่นน้องฟ้าทำโครงการออมวันละ 1 บาท เขาจะจัดการเอง ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงเกือบจะเข้าสองปีการทำงานในซอยนี้เห็นการร่วมมือกันของคนในชุมชน การลดค่าใช้จ่ายของคนในชุมชน เช่น บ้านน้องออโต้หรือบ้านสกายปลูกผักจนโตเก็บออกมาขาย ทุกคนในชุมชนก็อุดหนุนกัน ปลาดุกเขาก็ซื้อขายกันเองในชุมชน ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ผมถึงบอกว่าอยากจะให้ครอบครัวเขาได้ทำตามความถนัดความสนใจของเขา เป้อยากจะเลี้ยงปลาดุกปลาสลิด แป้งอยากปลูกผักปลูกเมล่อน สกายลงปลานิลในกระชัง เราให้เขาได้เรียนรู้ตามความสนใจของเขา มันเป็นกิจกรรมที่หลากหลายมากให้หมุนเวียนกันในชุมชน การซื้อขายกันในชุมชน ต่อให้เกิดวิกฤติการณ์โรคโควิด เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปตลาดนัด ทุกคนในชุมชนจะเห็นว่าบ้านไหนมีผลิตผลอะไรจะกำลังออก เขาจะเริ่มจองกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของตัวเอง และรู้ว่ากระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ปลอดภัยแน่นอนเพราะทุกคนในชุมชนทำมาด้วยกัน


ถาม ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความร่วมมือของคนในชุมชน

พี่จำลอง ผมคิดว่าเป็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่มีมาก่อน เพราะว่าตอนที่เข้ามาและพาเด็ก ๆ สืบค้นหาเรื่องราวประวัติหมู่บ้าน การเข้ามาอยู่อาศัยของพวกเขา เราชี้ให้เด็ก ๆ และพ่อแม่เห็นว่า ตายายเข้ามาด้วยความยากลำบากอย่างไร คนส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช หนีภัยคอมมิวนิสต์มาปักหลักที่ซอยนาสาร จนสุดท้ายมูลนิธิได้ขอที่ดิน 3,600 ไร่ นายอำเภอเข้ามาขอที่ดินให้กับชุมชน ตายายถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้ให้เด็กฟังให้เห็นรากเหง้าของพวกเขา

พวกเขาจะต้องรักและช่วยดูแลเอาใจใส่กัน เพราะพวกเขาผ่านความลำบากมาด้วยกัน ที่ดินตรงนี้ของหลายคนกลายเป็นเขตป่าสงวน พวกเขารับรู้และเผชิญสภาพความเดือดร้อนเหมือนกัน คิดว่าตรงนี้เป็นแรงผลักและเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ชุมชนขับเคลื่อนดูแลใจใส่กัน ส่วนตัวผมมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เขาผ่านมา ชวนเขาคิดต่อยอดว่าจะทำอย่างไรต่อไป เราเริ่มพูดเรื่องภัยพิบัติตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โจทย์ที่เราคุยคือถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนที่อุบลฯ จะเกิดอะไรขึ้น เราจะทำอย่างไร ณ วันนี้เรายังไม่มีที่ปลูกข้าว สมัยก่อนที่เข้ามาช่วงแรกยังมีพื้นที่ปลูกข้าว ต้องคุยกับชุมชนว่าเรามาปลูกข้าวกันไหม เมื่อมีผักมีกับข้าวแล้ว เหลือข้าวที่เรายังไม่ได้ทำ หลายครอบครัวบอกว่าปีนี้จะหาพื้นที่ปลูกข้าวด้วยกัน

­

ถาม อยากพัฒนาเพิ่มเติมเรื่องอะไร

พี่จำลอง ผมกำลังชวนพี่น้องคุยเรื่องการตรวจสอบกันเอง เป็นเกษตรอินทรีย์แบบให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อเป็นมาตรฐานของการตรวจสอบภายในเป็นระบบพีจีเอส การตรวจสอบมี โรงเรียน วัด รพ.สต. กลุ่มสมาชิกที่ปลูกผักข้างบ้านให้รับรองคุณภาพกันเองเพื่อที่จะสร้างแบรนด์และเป็นการการันตรีให้กับชุมชนของเรา

สิ่งที่เด็ก ๆ ทำไม่ว่าจะเป็นผักแซ่ ลูกแมะ ผักหวาน เมล่อนเป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากชุมชนของเราเอง เรากำลังทำการตลาดที่ตลาดนัดที่หน้าโรงเรียนของเด็ก ๆ เป็นจุดเชื่อมโยง สมมุติว่าแต่ละบ้านวางแผนการผลิต ให้รู้ชัดเจนว่าในแต่ละเดือน บ้านไหนมีผลผลิตอะไรออกมา เราเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อเป็นรายได้ที่ชัดเจน และตอบโจทย์ว่าเกษตรในครัวเรือนสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ สร้างรายได้เสริมสำหรับครอบครัวได้ อย่างปลาดุกร้าโลละ 250 บาท ยอดแมะกิโลกรัมละ 150 บาท เราเห็นราคานี้อยู่

เรากำลังคิดว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อรักษาคุณภาพ การปรับปรุงโครงสร้างใหม่ เรื่องการดูแลที่มีมาตรฐานมากขึ้น ให้มีการบันทึกในแต่ละครอบครัว ในทุกขั้นตอนการผลิต มีจุดเชื่อมโยงในการกระจายสินค้า ตอนนี้ธนาคารเมล็ดพันธุ์เราเริ่มแล้ว เรามีตู้เย็นเก่าอยู่หนึ่งหลัง เรามีเมล็ดพันธุ์มะเขือ ลูกแมะ ถั่ว พริกกะเหรี่ยง เราเก็บเมล็ดพันธุ์ใส่กระปุกไว้ เราสามารถขยายเมล็ดพันธุ์ส่งให้กับสมาชิกในชุมชน

ตอนนี้เราขยายไปอีกกลุ่มเป้าหมาย มีคนเข้ามาดูงานของซอยนาสารเขาชอบกระบวนการที่ชวนเด็กและพ่อแม่มาทำงานด้วยกัน เขามาหาผมบอกให้ไปช่วยดูชุมชนเขาหน่อย เขาอยากจะทำแบบนี้ ซึ่งเขาเป็นชุมชนที่อพยพมาจากโคราชทั้งหมด 15 ครัวเรือน ผมชวนเด็กและพ่อแม่ไปทำกระบวนการ ผมคิดว่าตอนนี้ผมกำลังศึกษาศักยภาพของชุมชนเขาอยู่ ผมจะชวนพวกเขาไปเรียนรู้รากเหง้าของพวกเขาเช่นเดียวกัน เมื่อ 30 ปีที่แล้วคนโคราชมาใช้แรงงานเก็บกาแฟกับนายหัว ขอแบ่งซื้อที่ดินคนละ 3-5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดิน สปก. อยู่หลังเขา เขาต่อน้ำประปาภูเขาลงมาใช้เพราะว่าน้ำเข้าไม่ถึงชุมชนนี้ ผมขึ้นไปจัดกระบวนการและต่อยอดจากเด็กพวกนี้ พาเด็กกลุ่มนี้ขึ้นไปเป็นพี่เลี้ยงและจัดกระบวนการ เรากำลังจะขยายแนวคิดแบบนี้ออกไปจากซอยนาสารซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ เราจะเน้นให้เขาเข้มข้นขึ้นในเรื่องการตลาดจุดเชื่อมโยงคุณภาพของการผลิตปฏิทินการผลิตที่ชัดเจนขึ้นในแต่ละเดือน และเขาจะออกไปช่วยเพื่อนในชุมชนใกล้เคียงกัน

­

ถาม เด็ก ๆ รู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ฟังเรื่องเล่าในอดีตจากคนในชุมชน

สกาย ผมได้ฟังเรื่องราวว่าพวกเขาเดินข้ามจังหวัดมาและไม่ได้ใส่รองเท้าด้วยครับ

ฟ้า รู้สึกภูมิใจค่ะ ที่ได้มาอยู่ที่นี่เพราะว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์มีธรรมชาติร่มรื่น

­

ถาม เด็ก ๆ รู้สึกและเรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโครงการ

เป้ รู้สึกถึงความรับผิดชอบ ความสามัคคี เราได้ไปชวนเพื่อน ๆ พี่น้องและพ่อแม่มาช่วยกันทำได้ฝึกความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ฟ้า เราได้กล้าทำสิ่งที่เราไม่เคยทำ กล้าที่จะหาข้อมูล

เปา กล้าที่จะลองและกล้าที่จะทำ ถ้าไม่ลองทำเราก็จะไม่รู้ ถ้าผมได้ลองผมจะได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ

­

ถาม ตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เปา ความรับผิดชอบ เวลาปลูกผักเราจะต้องรดน้ำ ทำปุ๋ย เราก็จะต้องช่วยพ่อแม่ เลิกเรียนมาจะต้องเข้าไปในสวนก่อนเพื่อรดน้ำผักและให้อาหารหอย แบ่งเวรกันให้อาหารปลาดุก

แป้ง รู้จักการทำงานแบบเป็นกลุ่ม จะมีเพื่อน ๆ ช่วยกันออกความคิดเห็น รู้สึกสนุกและทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ฟ้า ต้องรู้จักใจเย็น คอยรับฟังทุกเสียง บางครั้งน้อง ๆ ก็ดื้อต้องฟังเหตุผลของน้องมากขึ้น ทำให้เราถ้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทำให้เรามีวินัย

เป้ ผมเล่นโทรศัพท์น้อยลง ผมได้ทำและเจอในสิ่งที่ชอบ ผมชอบเลี้ยงปลาผมได้ศึกษาวิธีเลี้ยงปลาดูแลปลา ผมได้ช่วยลดภาระให้ที่บ้านและมีรายได้ให้กับครอบครัว

พี่จำลอง ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ตอนที่พวกเขามา ช่วงแรกเห็นเขากระจัดกระจายมาก พวกเขาอยู่กันแบบบ้านใครบ้านมัน เราค่อย ๆ ตะล่อมชวนเข้ามา เอาพ่อแม่เขาเข้ามา เอาพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเขาเข้ามา เราชวนมาคุยในเรื่องราวเดียวกัน เรื่องความสนใจของแต่ละคน ภายในปีกว่ามันทำให้เห็นว่าเมื่อก่อนเด็กจับโทรศัพท์กัน ถ้าว่างจะอยู่ห้องใครห้องมัน

ตอนนี้วันเสาร์-วันอาทิตย์ก็มาเจอกัน มาทำงานด้วยกัน มากินข้าวด้วยกัน พ่อแม่มาทำกับข้าวด้วยกัน เห็นทุกคนทำงานและกินข้าวด้วยกัน เราเริ่มเห็นว่าชุมชนเขาแน่นแฟ้นขึ้น ความสัมพันธ์ในชุมชนดีขึ้น หลายคนสะท้อนให้ฟังว่า “จากเมื่อก่อนไม่เคยได้คุยกัน แต่พอมีกระบวนการกลุ่มด้วยกันทำให้มีโอกาสได้คุยกัน” ความสัมพันธ์ฟื้นคืนขึ้นมา แค่นี้เราก็โอเคแล้ว แค่ปีกว่าทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนดีขึ้นมาพูดคุยกันมากขึ้น เด็ก ๆ ดูแลซึ่งกันและกันได้

ผมดีใจ อย่างหนึ่งเด็กที่นี่ปกติเวลาที่เราเห็นเมื่อก่อน พ่อแม่จะบอกว่าลูกฉันนะ มาว่ากันไม่ได้ถ้าว่ากันจะมีเรื่องมีราวกัน เมื่อเราทำงานแบบนี้ถ้ามีเด็กคนไหนดื้อ เราสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เหมือนสมัยตอนที่ผมยังเป็นเด็กถ้าเราทำผิดมากใครก็สามารถตักเตือนเราได้ ตอนนี้เราเริ่มเห็นว่าถ้าเด็กคนไหนดื้อผู้ใหญ่สามารถกำราบได้และพวกเขาก็ฟัง เด็กก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ผมเคยทำงานบางชุมชนเขาบอกว่าอย่ามาว่าลูกฉันนะ ลูกฉันมาฟ้องกลายเป็นว่าเราเป็นคนผิด ผมว่าความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน กระบวนการกลุ่มที่เราทำอยู่จะเป็นต้นแบบเพื่อให้ถอดบทเรียน

เราสังเกตว่าถ้าเราทำงานชุมชนแล้วเราแยกกลุ่มเป้าหมายออกไปเฉพาะด้าน ทำงานเฉพาะเด็ก สตรี เยาวชน คนแก่ ผมดูแล้วมันไปไม่รอดแต่ถ้าเราบูรณาการแบบนี้ไม่แยกส่วนเพื่อขับเคลื่อนชุมชน เราเอาคนในชุมชนทั้งหมดค่อย ๆ ทบทวนไป เป็นความกระบวนการที่ให้เขาได้เรียนรู้รากเหง้าตัวเอง เมื่อเรียนรู้เรื่องนี้แล้วเขาจะสานต่อพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเขาอย่างไร กระบวนการที่พาเขาไปสืบค้นและพัฒนามันต้องไปคู่กัน ถึงจะเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนต่อไป ผมเห็นความรับผิดชอบของเด็ก ๆ ทุกคนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมาก บางทีนัดเด็กไว้ เด็กต้องมารอเรา บางทีครูต่างหากที่ไม่ตรงเวลา อย่างน้องฟ้าเขารับผิดชอบมาก เขาจะทำหน้าที่คอยดูแลน้อง ๆ เวลามีประชุมประจำเดือนเขาจะไลน์มาเตือนเรา เรามอบหมายหน้าที่ให้เขาก็ทำได้ดี น้อง ๆ คนอื่นก็รับผิดชอบขึ้นมาก